วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

นิราศถ้ำจอมพล

นิราศถ้ำจอมพล นี้ประพันธ์โดย ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า "กลอยใจ" ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นนักเรียนหญิงชั้น ม.ศ.5 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ปีการศึกษา 2518 เป็นการเขียนส่งอาจารย์)  นิราศถ้ำจอมพลนี้ จัดพิมพ์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์ของนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ที่จบการศึกษาปี พ.ศ. 2518

                                                               นิรานิราศร้างอย่างเหงาเหงา
บรรยากาศเงียบขรึมชวนซึมเซา             ฤดูร้อนมาดเก่าเริ่มเร่าร้อน

๒..ตะวันโผล่ยิ้มพรายตรงปลายฟ้า           เปล่งใยทองทาบทามาอ่อนอ่อน
ขึ้นรถทัวร์(สองแถว) แล้วบทจร                ไม่อาวรณ์...แต่ละเหี่ยเพลียหัวใจ

๓..ท่านอาจารย์สั่งนักเรียนเขียนนิราศ      นักเรียนก็ไม่อาจขัดใจได้
เขียนเป็นบ้างไม่เป็นบ้างช่างปะไร            หากไม่เขียนก็จะไม่ได้คะแนน

๔..ในโลกนี้เป็นอะไรได้ไม่ยาก                 เป็นกวีนี้ต่างหากลำบากแสน
เหลือบแลไปทั่วพิภพจบดินแดน               ก็ล้วนแต่ขาดแคลนแก้วกวี

๕..คุณอาคมครอบงำปะรำหลวง               สำทับดวงใจผู้เข้าสู่ศรี
เจ้าแผ่นดินถิ่นประชาไทยธาตรี                 ก็ยังมีบางพระองค์ทรงกาพย์กลอน

๖..หลายรัชกาลเก็จกรองฟ่องเฟื่องฟ้า      และหลายคราถ้าใครทักสุนัขหอน
บางยุคเคยใกล้บาทราชบวร                      บางยุคนอนกลางดินกินกลางวัด

๗..โอ้.. กวีฤาแล้งแหล่งสยาม                    แต่แล้งความอาทรสุข – ทุกข์ถนัด
กวีเอ๋ยเคยโชติช่วงเพียงดวงรัตน์              เดี๋ยวนี้พลัดบุญล่วงเป็นดวงดิน

๘..เรามิใช่กวีที่สูงศักดิ์                              แต่ด้วยรักกลอนกานต์มานถวิล
เขียนเพื่อสืบต่อพงศ์วงศ์กวิน                   มิให้สิ้นศักดิ์สยามเฟื่องนามดัง

๙..สิบนิ้วไหว้วอนครูมาอยู่ขวัญ                ข่มใจอันเวิ้งว้างว่างความหวัง
อารมณ์เลื่อนลอยหนอศิษย์ขอรั้ง            เพื่อสอนสั่งศิลปะสุนทรแห่งกลอนไทย

๑๐..ขอกราบกรานครูกลอนสุนทรภู่          วิญญาณท่านสถิตอยู่สวรรค์ไหน
ศิษย์ขอเชิญมาอยู่ขวัญผลักดันใจ            ให้แจ่มใสทุกวลีที่กลั่นกรอง

๑๑..สองแถวทัวร์รัวสั่นทั้งคันส่าย             แฉลบซ้ายแฉลบขวาน่าสยอง
กลัววิ่งไปล้อหลุดทรุดลงคลอง                 หรือหากต้องลงเข็นเห็นจะซวย

๑๒..มองท้องนาหน้าแล้งดินแห้งผาก       หญ้าตายซากเหลืองคร่ำข้างลำห้วย
ตาลยืนข้างต้นเดี่ยวเปลี่ยวระทวย             ไม่สดสวยศิวิไลซ์อย่างในเมือง

๑๓..เดือนแปดแล้วฝนยังไม่หลั่งหล้า       โอ้ชาวนาใครจะปลุกปลดทุกข์เปลื้อง
แพข้าวกล้าเฉาใบให้ขุ่นเคือง                    ปล่อยชีพเปลืองเปล่าไปแต่ไรมา

๑๔..น้ำในคลองขอดแห้งเพราะแล้งจัด     ลมร้อนพัดวูบผ่านเหนือลานหญ้า
ข้าวเกรียมไหม้หม่นหมองทั่วท้องนา         เพราะแดดกล้าเผากราดขาดฝนลง

๑๕..เสียงเพลงเกี่ยวปีนี้ที่จะเงียบ               ลานนวดเรียบจะมีแต่ขี้ผง
เพลงขวัญข้าวคงค้างแต่กลางวง               และจบลงตรงเพลงรอปีต่อไป

๑๖..สองแถวทัวร์ถึงจอมบึ่งเต็มที่               เจอะโชเฟอร์ตีนผีนี่ไม่ไหว
นั่งหัวสั่นหัวคลอนจนอ่อนใจ                       ผ่านวิทยาลัยจอมบึงจึงชะลอ

๑๗..เห็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ยิ้มระรื่น              แหมคุณครูสดชื่นกันจริงหนอ
อยากเรียนครูแต่ความรู้เราไม่พอ               แต่เราก็เก่งพิมพ์มือโรงจำนำ

๑๘..สองแถวทัวร์สุดสายตรงชายเขา        กลุ่มพวกเราแยกย้ายไม่พูดพร่ำ
กินก๋วยเตี๋ยวกินขนมกินส้มตำ                     ก่อนชมถ้ำสวยงามนาม “จอมพล”

๑๙..หลังจากอิ่มหนำสำราญทั่ว                 เราซื้อถั่วซื้อกล้วยด้วยหลายผล
ติดไปฝากฝูงลิงวิ่งลุกลน                            มันซุกซนอยู่ตามชั้นขั้นบันได

๒๐..บางตัวขึ้นต้นตะแบกแหกตาหลอก       คนปีวอกจะเหมือนลิงจริงจริงไหม
หากมนุษย์เลือกเกิดได้ดั่งใจ                       ได้เกิดใหม่จะขอหนีปีวอกเลย

๒๑..ลงบันไดเข้าในถ้ำเย็นช่ำชื่น                ชั่งแสนชื่นในกมลจนเหลือเอ่ย
โอ้งามไหนหรือจะเทียบสุดเปรียบเปรย      ใครที่เคยมาดูย่อมรู้ดี

๒๒..ตรงไหนมืดที่สุดเป็นจุดอับ                    เขาประดับประดาไว้ด้วยไฟสี
ตรงไหนป่ายปีนลำบากยากเต็มที                 เขาก็มีสะพานไม้บันไดรับ

๒๓..ตามหลืบหินรอบด้านเพดานถ้ำ             มีค้างคาวตัวดำห้อยหัวหลับ
บ้างลืมตาสะท้อนแสงแดงระยับ                   ดูเหมือนกับแสงดาวที่วาววาม

๒๔..บนพื้นถ้ำที่เหยียบย่างเย็นยะเยียบ         บางตอนเรียบบางตอนโขดต้องโดดข้าม
บ้างลดหลั่นเป็นชั้นช่างสวยงาม                    เป็นไปตามธรรมชาติแต่งวาดไว้

๒๕..มีถ้ำเล็กชื่อว่านาคานิราส                      มีบาดาลลึกมากเป็นที่อยู่
ก่อนคงมีพญานาคอยู่ข้างใน                         เขาจึงตั้งนามไว้ให้คนรู้

๒๖..ตามตำนานโบราณว่าพญานาค            มีบาดาลลึกมากเป็นที่อยู่
เป็นเมืองใหญ่ในทีวีเคยมีดู                           ใช่อาศัยอยู่ในรูอย่างงูดิน

๒๗..มีชั้นหินหลายหลากจากข้างถ้ำ             เป็นทางน้ำไหลเลาะเซาะซอกหิน
เขาให้ชื่อว่าธารศิลาริน                                 ใครได้ยิน คงกังขาทำท่างง

๒๘..ใช่ศิลาจะไหลได้ดั่งสายน้ำ                   แต่ว่าธรรมชาติช่วยเสริมส่ง
เกิดจากน้ำเซาะหินรินไหลลง                        พัดพาผงหินตะกอนซับซ้อนกัน

๒๙..มีหินย้อยเป็นระย้างามตาเหลือ                 มองไม่เบื่อดั่งเมืองแมนแดนสวรรค์
ระย้าย้อยแย้มเก็จดุจเพ็ชรพรรณ                       สมชื่อนั้นสร้อยระย้าค่าควรเมือง

๓๐..มีบ้างย้อยระย้าดูคล้ายคูหา                      เขาประดับประดาไว้ด้วยไฟเหลือง
ดูยิ่งเหมือนถ้ำทองอันรองเรือง                        แสนสุดงามประเทืองประทับใจ

๓๑..เขาตั้งนามไว้สมนามถ้ำทองนั้น                คูหาอันวิจิตรน่าพิสมัย
เปล่งรังสีเรืองรองผ่องอำไพ                              เขาชื่อไว้จุลคูหาอย่างน่าชม

๓๒..มีแอ่งหินเป็นอ่างอย่างวิจิตร                     ชื่อพิชิตชลนี้มีนามสม
มองเงาน้ำงามตาน่านิยม                                  ความงามข่มงามไหนไม่อาจเทียม

๓๓..ยิ่งมองยิ่งงามตาจะหาไหน                       ธรรมชาติแต่งไว้ได้ยอดเยี่ยม
ถึงมนุษย์ทั้งหล้ามาจัดเตรียม                           ก็ไม่เทียมธรรมชาติสร้างสักอย่างเดียว

๓๔..ถัดจากนี้มีหน้าผาหน้ายลยิ่ง                      เป็นกำแพงชันดิ่งอยู่โดดเดี่ยว
ผาวิจิตรผางามสมนามเชียว                              เขาติดไฟสีเขียวสวยสดตา

๓๕..มีหินย้อยห้อยสยายคล้ายสาวสาว              ปล่อยผมยาวลงสยายร่ายริมบ่า
มีบ้างคล้ายเครื่องสูงพระราชา                            จึงชื่อว่าแส้จามรงามงอนนัก

๓๖..บนพื้นมีหินงอกออกเป็นหน่อ                       มองเหมือนตอไม้เขาเอามาปัก
ทำไมหินงอกได้ใครต่างทัก                                 เราก็ชักแปลกใจไปเหมือนกัน

๓๗..จากหินงอกหินย้อยใหญ่น้อยนั้น                   ประกอบกันเป็นแท่นมีฐานมั่น
เขาให้ชื่อบรมอาสน์อัฒจันทร์                              เช่นเชิงชั้นบรมอาสน์พระศาสดา

๓๘..เพดานถ้ำตรงนี้มีช่องใหญ่                            ลำแสงไล้ลูบลงตรงแผ่นผา
จากตรงนี้เราจึงมองเห็นท้องฟ้า                           และพบว่าบ่ายคล้อยไม่น้อยแล้ว

๓๙..ก้าวเดินถึงก้นถ้ำลึกล้ำมาก                           ได้พบซากฤาษีมีตาแป๋ว
ยามสะท้อนแสงไฟใสวับแวว                                เขาฝังแก้วเอาไว้หรือไงนะ

๔๐..หรือจะเป็นฤาษีผู้มีฤทธิ์                                  มาหลบเล้นเม้นมิดถือตะบะ
ละโทโสโมหะละโลภะ                                           สำเร็จแล้วเลยละจากร้างไป

๔๑..ทิ้งร่างไว้เหี่ยวแห้งเป็นแท่งหิน                       ซากมุนินทร์ทรงสิทธาน่ากราบไหว้
มีชื่อว่าธาตุเนรมิตสิทธิชัย                                     ควรใครใครถืออย่างทางนิพพาน

๔๒..ท้ายที่สุดมีพระพุทธรูปใหญ่                           ในปางไสยาสน์อยู่ดูภูมิฐาน
ชื่อพระพุทธบรรทมโพธิ์สมภาร                             ให้ชาวพุทธนมัสการบำเพ็ญบุญ

๔๓..เราจุดธูปจุดเทียนอธิษฐาน                             ขอบันดาลบุญเก่าดลกุศลหนุน
พระบารมีพิสุทธิ์พระพุทธคุณ                                  ผลานิสงส์ค้ำจุนเจิดจำรูญ

๔๔..ขอคนโฉดชั่วร้ายอย่ากรายใกล้                       ทั้งเคราะห์โศกโรคภัยให้เสื่อมสูญ
ให้รู้สร้างสิ่งดีทวีคูณ                                                ให้เพิ่มพูนสินทรัพย์นับอนันต์

๔๕..อธิษฐานขอให้ไทยทั้งชาติ                              หยุดพิฆาตหยุดสงครามความป่วนปั่น
ไทยควรสามัคคีดีต่อกัน                                           คอยห้ำหั่นผู้รุกรานบ้านเมืองเรา

๔๖..มือพนมก้มกรานสะท้านจิต                               เมื่อหวนคิดถึงเพื่อนไทยใจยิ่งเศร้า
ศาสนาถึงจุดทรุดซบเซา                                          วัดเงียบเหงาคนรุ่นใหม่ไม่เหยียบเยือน

๔๗..กลางสังคมสัตว์สองขาหน้าไร้ขน                     ยังเวียนวนในกะลาความป่าเถื่อน
ศาสนาสูงเกินจะเดินเตือน                                         เมื่อต่างเบือนหัวใจไม่ยอมรับ

๔๘..ต่อให้อาบน้ำมนต์จนตัวเปื่อย                            และเรื่อยเจื้อยจำคาถาว่าเป็นตับ
ถ้าใจขาดพระธรรมคอยกำชับ                                    ก็เหมือนหลับตาเดินเผชิญสุข

๔๙..จากทารกร้องจ้าเรียกหาแม่                                ถึงคนแก่กอดหลานตายได้เป็นสุข
ชั่วชีวิตชิดแต่ช้ำกระหน่ำชุก                                       สืบต่อยุคแย่งกันอยู่อย่างผู้คน

๕๐..เมื่อคงความสมบูรณ์พูนสมบัติ                           พระคุณวัดซัดหายไปทุกหน
ต่อเคราะห์หามยามร้ายกล้ำกรายตน                          จึงร้อนรนวนเข้าวัดขจัดภัย

๕๑..แสงโชติช่วงเทียนไชยไหว้พระพุทธ                  อาจรู้จุดจนกระจ่างกล่าวอ้างได้
แต่กับแสงพระธรรมประจำใจ                                     เหมือนจุดในธารกมลซึ่งวนเวียน

๕๒..กลางสังคมสัตว์สองขาหน้าไร้ขน                      ต่างหมุนวนวิ่งไปตามความแปรเปลี่ยน
ใครจะพร้อมยอมกระทำเป็นลำเทียน                          ที่พากเพียรเผาตัวเพื่อเหลือน้ำตา

๕๓..เป็นอันเสร็จสุขสมการชมถ้ำ                              ความงามล้ำอาจบรรยายไม่สมค่า
ใครมาแล้วจะจากไปอาลัยลา                                    คงกลับมาอีกครั้งด้วยฝังใจ

๕๔..เพราะถ้ำนี้มีที่กว้างกว่ากว้าง                              มีความมืดที่เวิ้งว้างสว่างไสว
เป็นเถื่อนถ้ำแต่เป็นที่ไม่มีภัย                                      อยู่ห่างไกลแต่ก็ใกล้คุณธรรม


พิมพ์โดย
สุจิตรา  กวางประชัน นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง : 30 มี.ค.2554
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

บทละครจินตภาพ "คูบัวราชบุรี เรืองสถิตฟ้า"

ในงาน "The Old Ratchaburi Fair 2011" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย.2554 ณ โบราณสถาน วัดโขลงสุวรรณคิรี ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยความร่วมมือของ จังหวัดราชบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว สำนักท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี และสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 

ในงานนี้ คณะกรรมการจัดงานฯ ได้จัดให้มีการแสดงละครจินตภาพประกอบแสง เสียง เรื่อง "คูบัวราชบุรี เรืองสถิตฟ้า" โดยทำการแสดงในเวลา 19:00 น.ของทุกวัน มีบทการแสดงทั้งหมด 5 องก์ดังนี้

องก์ที่ 1 - 3,000 ปีมนุษยชาติราชบุรี
จากหลักฐานทางโบราณคดี เมืองโบราณคูบัวมีร่องรอยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์  พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย อาทิ ขวานหิน, ลูกปัด, ภาชนะดินเผา, กลองมโหระทึก, โครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ตามความเชื่อของคนพื้นเมือง (นาก) จะ "บูชากบ" เป็นเทพเจ้า

องก์ที่ 2 - คูบัววานิชแห่งสุวรรณภูมิ
เมืองคูบัว เป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของสุวรรณภูมิ จึงมีผู้คนหลายชนชาติเข้ามาค้าขาย เช่น ชาวเปอร์เซีย อินเดีย ชาวจีน และชาวพื้นเมืองแถบลุ่มน้ำท่าจีน (นครชัยศรี) ลุ่มน้ำจระเข้สามพัน เมืองอู่ทอง เมืองศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ

องก์ที่ 3 - ศาสนารุ่งเรืองไพศาล
พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป ได้ทรงส่งพระสมณะฑูตพระโสณะเถระ และพระอุตระเถระเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีศาสนาพราหมณ์ จากหลักฐานที่ค้นพบการไหว้พระศิวลึงค์

องก์ที่ 4 - ผืนแผ่นดินมหาราช
อะแซหวุ่นกี้ มีบัญชาให้ งุยอคงหวุ่น มาตามพวกมอญที่อพยพหนี  ถ้าตามไม่ทันให้ยกทัพกลับ แต่งุยอคงหวุ่น ฝ่าฝืนคำสั่งยกตามมอญเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ตีกองทัพพระยายมราช (แขก) แตกหนีเข้ามาทางท่าดินแดง แล้วยกเข้ามาถึงปากแพรก จึงแบ่งกองทัพเข้าปล้นทรัพย์  พอทราบว่ากองทัพไทยยกไปตั้งที่ราชบุรี งุยอคงหวุ่น จึงตั้งค่ายที่ตำบลบางแก้ว

พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ และพระยาธิเบศรบดีไปรักษาเมืองราชบุรี กองทัพทั้งสองเข้าล้อมพม่าที่บางแก้วได้ พระเจ้ากรุงธนบุรี พึ่งเสด็จกลับจากเชียงใหม่ รีบเสด็จไปช่วยและส่งกองทัพเหนือเข้ามาช่วย  ทั้งนี้เพราะงุยอคงหวุ่น ประมาทฝีมือไทยซึ่งเป็นการคาดผิด

อะแซหวุ่นกี้ให้ตะแคงมรหน่องเข้ามาช่วย  ได้ตั้งค่ายอยู่ที่เขาชะงุ้ม เข้าช่วยพรรคพวกไม่สำเร็จ พวกพม่าที่บางแก้วยอมจำนน แล้วไทยจึงระดมพลเข้าตีทัพพม่าที่ปากแพรกและเขาชะงุ้ม พม่าสู้ไม่ได้แตกยับเยินไป  ชัยชนะครั้งนี้เป็นการบำรุงทางใจ และการที่พระเจ้ากรุงธนบุรีจับพม่าส่งมาให้คนไทยดู เท่ากับเป็นการบำรุงขวัญคนไทยเพื่อไม่ให้หวาดหวั่นและกลัวเกรงพม่า ซึ่งเคยกดขี่เมื่อคราวเสียกรุง

องก์ที่ 5 - ใต้ร่มโพธิสมภารมหาราชเจ้า
กลุ่มชาติพันธิ์อพยพมาตั้งถิ่นฐานในราชบุรี ได้แก่ ชาวไท-ยวน ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยกะเหรี่ยง ชาวไทยมอญ ชาวไทยลาวตี้ ชาวไทยจีน ชาวไทยเขมร คนไทยภาคกลางพื้นถิ่น


ที่มา
เอกสารประกอบการแถลงข่าวงาน "The Old Ratchaburi Fair 2010" เมื่อวันอังคารที่ 22 มี.ค.2554 ณ วัดโขลวสุวรรณคิรี ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี



อ่านต่อ >>