วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บทกลอน "มีคนสวยโพธาราม"

ท่านผู้เฒ่าเล่าความว่ายามก่อน                มีชาวมอญส่วนมากจากพม่า
มาตั้งฐานบ้านเรือนอยู่เกลื่อนตา              อยู่ตรงบ้านสร้อยฟ้าเวลานี้

แม่หญิงมอญอ่อนหวานยามขานไข         ประทับใจเพื่อนพ้องและน้องพี่
ผิวพม่านัยน์ตาดำคมขำดี                         จึงเกิดมีคำนิยมชื่นชมนาง

โอ้คนสวยโพธารามข้อความนี้                คือศักดิ์ศรีที่ดำรงเป็นวงกว้าง
คนท้องที่ทั่วไปไม่อำพราง                      ยึดแบบอย่างร่วมกันทุกวันมา

ที่หนองอ้อก็เป็นฐานของบ้านมอญ         ต่างสัญจรไปประสบเพื่อคบหา
มอญหนองอ้อกับมอญบ้านสร้อยฟ้า       ถูกคงคาขวางไว้มิใกล้กัน

ประเพณีสงกรานต์สองบ้านนี้                  มีทุกปีล้วนสนุกสบสุขสันต์
การละเล่นพื้นเมืองเรื่องสำคัญ                เชื่อมสัมพันธ์เชื่อมรักสามัคคี

การประกวดธิดามอญกระฉ่อนชื่อ           คนเลื่องลือว่าสวยด้วยศักดิ์ศรี
กิจกรรมเสริมเสน่ห์ประเพณี                    เสริมเสน่ห์ราชบุรีทุกวี่วัน

***********************************
ผู้ประพันธ์ : ศรีวิชัย   ทรงสุวรรณ

ที่มา :
ศรีวิชัย ทรงสุวรรณ. (2541). แววรุ้งที่ราชบุรี. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์. (หน้า 108). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

บทกลอน "เมืองปฐมบรมวงศ์จักรี"






















เขาแก่นจันทน์นั้นสูงไม่เสียดฟ้า         แต่เวลาขึ้นไปแล้วใจหวิว
ยอดสนโอนเอนร่ายเป็นรายริ้ว           แลลิบลิ่วชวนผวาทุกคราไป

ยอดเขานี้มีศาลาจตุรมุข                    จะเปี่ยมสุขเมื่อมาพักอาศัย
มี "พระสี่มุมเมือง" ประเทืองใจ        ประทับในศาลามานานเนา

พระบรมราชานุสาวรีย์                        ประทับยืนอยู่ที่ใกล้เชิงเขา
สง่างามนามประเทืองคู่เมืองเรา        เชิญคุณเข้ากราบไว้อย่างใกล้ชิด

คือปฐมบรมราชานุสรณ์                     ปางเมื่อตอนพระองค์นั้นทรงสิทธิ์
เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองผู้เรืองฤทธิ์         ประกอบกิจราชการอยู่นานปี

เมื่อจากเมืองราชบุรีก็มีค่า                  ทรงปราบดาเป็นกษัตริย์สูงศักดิ์ศรี
เป็นปฐมบรมวงศ์จักรี                         นามภูมีพระพุทธยอดฟ้าฯ

อันชาวเมืองราชบุรีวันนี้นั้น               ต่างช่วยกันพิทักษ์เฝ้ารักษา
ชาวเมืองอื่นที่ได้ผ่านไปมา              ล้วนศรัทธาในเดชะบารมี

วันที่หกเมษามหาฤกษ์                     จะเชิญพราหมณ์มาเบิกพุ่มบายศรี
ข้าราชการพ่อค้าประชาชี                 ถวายราชสดุดีด้วยดวงใจ

ลานพระบรมราชานุสาวรีย์               จัดให้มีงานฉลองที่ยิ่งใหญ่
กิจกรรมหลายอย่างแตกต่างไป        สืบสานไว้เป็นกิจกรรมประจำเมือง


**********************************************
ผู้ประพันธ์ : ศรีวิชัย    ทรงสุวรรณ

ที่มา :
ศรีวิชัย  ทรงสุวรรณ. (2541).  แววรุ้งที่ราชบุรี. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์. (หน้า 107).  (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บทกลอน "หอมแป้งร่ำที่ดำเนิน"

มาดำเนินวันนี้ไม่มีน้อง
สองฟากคลองเหงาหงอยพลอยใจหาย
มีแต่เรือลำเก่าที่เจ้าพาย
ไม่เห็นกายเพื่อนเก่าของเราแล้ว

เรือลำเดียวลำเดิมเริ่มจะเก่า
กลับมาเอาชันยาเถิดหนาแก้ว
อย่าทิ้งเรือให้แยกแตกเป็นแนว
เดี๋ยวจะแจวหากินไม่สิ้นปี

เคยเป็นเพื่อนเหมือนพี่ได้ปีกว่า
เจ้าก็มาหลบหายคิดหน่ายหนี
หากน้อยใจใครทำช้ำฤาดี
ยังมีพี่ที่ยังคอยอย่าน้อยใจ

ท้องร่องที่มีเผือกให้เลือกขุด
พร้อมถั่วคุดและมะม่วงพวงใหญ่ใหญ่
อีกพริกหอมและกระเทียมแห้งเกรียมไป
ไม่มีใครดูแลนะแม่คุณ

หรือกระท่อมหลังเก่าเสามันกร่อน
เจ้าหลับนอนอย่างไรไม่อบอุ่น
หรือพี่น้องคนไหนไม่การุณ
เจ้าจึงวุ่นวายใจไปเมืองกรุง

หากเจ้าอยู่แห่งไหนในเมืองฟ้า
ขอโปรดอย่าลืมดินลืมซิ่นถุง
กลับมาใช้แป้งร่ำน้ำอบปรุง
อย่าไปยุ่งเครื่องสำอางอย่างเขาเลย

********************************
ผู้ประพันธ์ ศรีวิชัย  ทรงสุวรรณ ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสยาม

ที่มาข้อมูล
ศรีวิชัย  ทรงสุวรรณ. (2541). แววรุ้งที่ราชบุรี.  ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์. (หน้า 90) (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>