วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เพลงพานฟาง บ้านโพหัก

เพลงพานฟาง
บ้านโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

การแต่งกายของผู้เล่นเพลงพานฟาง
ประวัติเพลง
การเล่นเพลงพานฟาง เป็นการเล่นเพลงของชุมชนชาวโพหักที่เกี่ยวกับอาชีพการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน การเล่นเพลงไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเริ่มมีการเล่นตั้งแต่สมัยใด แต่สามารถสันนิษฐานได้จากการเล่าของผู้อาวุโสชาวโพหักว่า ปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษได้เล่นเพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดานกันมาแล้วทั้งนั้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และเล่นเพลงเหล่านี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำนา

เพลงพานฟาง
เพลงพานฟางนั้น ใช้ร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง ขณะพานฟางในลานนวดข้าว เมื่อข้าวหลุดออกจากรวงหมดแล้ว จึงช่วยกันแยกฟางออกไปไว้บริเวณขอบลานให้เหลือเมล็ดข้าวในลาน การเขี่ยฟางออกนี้เรียกว่า พานฟาง ในการพานฟางออกนี้จะทำอย่างมีระเบียบ มีการวางซ้อนกันที่เรียกว่า ลอมฟาง และจะร้องเพลงพานฟาง มีทำนองคล้ายกับเพลงสงฟาง แต่มีฉันทลักษณ์ง่าย ๆ ที่ใช้เป็นกลอนสั้นๆ โดยขึ้นต้นว่า พานเถอะหนาแม่พาน เช่น

ชาย พานเถอะหนาแม่พาน (รับเฉยไว้ๆ) พานเถอะหนาแม่พานแม่นั่งรอบๆ ขอบลาน มาช่วยกันพานฟาง
(รับ) ช้าเจ้าเอ๋ย ฟางเอ๋ยแม่นั่งรอบๆ อยู่ขอบลานมาช่วยกันพานฟางเอย
หญิง พานเถอะหนาพ่อพาน (รับเฉยไว้ๆ) พานเถอะหนาพ่อพาน ไอ้ท้ายรูดๆ ไอ้ตูดบานๆ มาช่วยกันพานฟางเอย

การแต่งกายผู้เล่นเพลงพานฟาง
การเล่นเพลงพานฟาง ของชุมชนโพหัก เป็นการเล่นที่มีขึ้นเพื่อเกิดความสนุกสนานระหว่างทำงานรวมกันเป็นหมู่เป็นการร้องเล่นที่ทำให้ไม่นึกความเหน็ดเหนื่อย และเบื่อหน่าย ดังนั้นความมุ่งหมายไม่ได้แต่งกายเพื่อความสวยงาม จึงเป็นการแต่งกายเพื่อจะทำงาน เสื้อผ้าที่ใส่ฝ่ายหญิงเป็นเสื้อแขนยาวสีดำหรือสีน้ำเงินนุ่งโจงกระเบน ที่ศีรษะมีงอบกันแดด ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย ใส่เสื้อแขนยาวสีดำหรือสีน้ำ เงิน ที่ศีรษะสวมหมวกสาน

เก็บข้อมูล ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2549 โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

การแต่งกายของผู้เล่นเพลงพานฟาง
ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2552).เพลงพานฟาง. แหล่งความรู้ออนไลน์ : ศิลปะการแสดงภาคกลาง. [Online]. Available :http://www.culture.go.th/knowledge/center.html. [2553 ตุลาคม 11 ].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น