วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เพลงชักกระดาน บ้านโพหัก

เพลงชักกระดาน
บ้านโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

ภาพการแต่งกายผู้เล่นเพลงชักกระดาน
ประวัติเพลง
เพลงชักกระดาน เป็นการเล่นเพลง ของชุมชนชาวโพหักที่เกี่ยวกับอาชีพการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน การเล่นเพลงไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเริ่มมีการเล่นตั้งแต่สมัยใด แต่สามารถสันนิษฐานได้จากการเล่าของผู้อาวุโสชาวโพหักว่า ปู่ย่าตา ยาย และบรรพบุรุษได้เล่นเพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดาน กันมาแล้วทั้งนั้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และเล่นเพลงเหล่านี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำนา

เพลงชักกระดาน
เพลงชักกระดานจะเล่นต่อจาก เพลงสงคอลำพวน โดยร้องกันหลังจากที่ได้ เมล็ดข้าวแล้วจึงรวมข้าวที่กระจายอยู่กลางลานให้เป็นกองใหญ่ โดยใช้ไม้กระดานเจาะรู 2 ข้าง เอาเชือกร้อย มีด้านตรงกลางกระดาน สำหรับใช้คนหนึ่งกดกระดานให้ติดพื้น ส่วนอีกคนหนึ่งจะดึงเชือก จะได้ข้าวทีละมากๆ เรียกว่า ชักกระดาน ระหว่างชักกระดานมีการร้องเพลงชักกระดานมีลักษณะคล้ายเพลงสงคอลำพวน

เนื้อร้อง
เป็นการร้องเกี้ยวพาราสี ระหว่างชายหญิง เนื่องจากขณะที่ชักกระดาน มีการแกล้งเบียดเนื้อเบียดตัวจับมือถือแขนกัน เป็นเรื่องสนุกสนานกันทั้งลาน เช่น

“ เจ้าช่างชักเอย ช้างน้อยห้อยหัก หักบนยอดหลักเกียด (ร้องทวนซ้ำอีกเที่ยวพร้อมกัน) นี่แหละคู่ครองของแม่เนื้อละเอียด (ทุกคนรับพร้อมกันว่าเอ้านอระนอยน่ารักชักให้เสมอกันเอย)

เจ้าช่างชักเอย ช้างน้อยห้อยหัก หักบนยอดสะเดา (รับพร้อมกันซ้ำ) ฉันมันไม่ใช่คู่ครองดอกพ่อทองของ
เรา (รับพร้อมกัน ให้แม่ชวนกันรัก เอานอระนอยน่ารัก ชักให้เสมอกันเอย)"

การแต่งกาย
ผู้เล่นเพลงชักกระดาน เพลงชักกระดานของชุมชนโพหักเป็นการเล่นที่มีขึ้นเพื่อเกิดความสนุกสนานระหว่างทำงานรวมกันเป็นหมู่ เป็นการร้องเล่นที่ทำให้ไม่นึกความเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย ดังนั้นความมุ่งหมายไม่ได้แต่งกายเพื่อความสวยงาม จึงเป็นการแต่งกายเพื่อจะทำงาน

ภาพการแต่งกายผู้เล่นเพลงชักกระดาน


เก็บข้อมูล ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2549 โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2552).เพลงชักกระดาน. แหล่งความรู้ออนไลน์ : ศิลปะการแสดงภาคกลาง. [Online]. Available :http://www.culture.go.th/knowledge/center.html. [2553 ตุลาคม 11 ].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น