วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เพลงสงคอลำพวน บ้านโพหัก

เพลงสงคอลำพวน
บ้านโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี 

ประวัติเพลง 
ภาพการแต่งกายของผู้เล่นเพลงสงคอลำพวน
เพลงสงคอลำพวน เป็นการเล่นเพลงของชุมชนชาวโพหักที่เกี่ยวกับอาชีพการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนการเล่นเพลงไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเริ่มมีการเล่นตั้งแต่สมัยใดแต่สามารถสันนิษฐานได้จากการเล่าของผู้อาวุโสชาวโพหักว่า ปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษได้เล่นเพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดานกันมาแล้วทั้งนั้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และเล่นเพลงเหล่านี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำนาเมื่อร้องเกริ่นกันพอสมควรแล้ว ฝ่ายชายจึงร้องเป็นทำนองเชิญชวนขึ้นก่อนจากนั้นฝ่ายหญิงและชายจะร้องแก้กันไป

เพลงสงคอลำพวน เพลงสงฟางจะเล่นต่อจากเพลงพานฟาง เมื่อแยกฟางออกไปยังขอบลานชาวนาจึงเอาตะแกรงมาร่อนเศษฟางออก ระหว่างช่วยกันร่อนนี้เองจึงมีการร้องเพลงสงคอลำพวน เริ่มร้องด้วยคนที่มีเสียงดีก่อน ชายหรือหญิงโห่ก่อนก็ได้จนครบฝ่ายละ 3 ลา แล้วฝ่ายชายจึงร้องเกริ่นเป็นบทสั้นๆ เช่น 

โห่ขึ้นแล้วให้ครบสามหน รับสายสิญจน์มงคล วนให้รอบลานเอย โห่ขึ้น
แล้วทำไมไม่ถึงเจอกับขันชนกันดังตึง โห่
แล้วไม่ถึงลานเอย เสียงใครเขาโห่มาโน่น
ฉาวๆ จะเป็นเขมรหรือ มอญ ลาว โห่แล้วก็เงียบหายเอย ฯลฯ
 
เมื่อร้องเกริ่นกันพอสมควรแล้ว ฝ่ายชายจึงร้องเป็นทำนองเชิญชวนขึ้นก่อน จากนั้นฝ่ายหญิงและชายจะร้องแก้กันไป เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่จะเป็นการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหญิงในบางครั้งอาจจะมีคำ ที่สองแง่สองง่ามอันเป็นเอกลักษณ์ของความสนุกสนานด้วย

ฉันทลักษณ์ของเพลงจะเป็นกลอนสัมผัสอย่างง่ายๆ ร้องต่อกันไปด้วยปฏิภาณไหวพริบของผู้ร้อง เช่น

(สร้อย) สงคอลำพวนเอย ลำพวนก็ลำเอยไพ ที่ตั้งไว้เผื่อ ปูเสื่อไว้ท่า
มาเถิดหนา แม่มาไวๆ เถอหนาแม่มา แม่คิ้วถี่มาเล่นกับพี่ไวๆ 

(ลูกคู่) เชียะ ช่อ แม่เอ๋ยดอกไม้ มาเล่นกับพี่ไว ๆ นะนวลเอย

(สร้อย) สงคอลำพวนเอย ลำพวนก็ลำเอยไพ ให้แม่ลุกจากฉาก คายหมากออกมากอง ให้แม่ลุกขึ้นมา ร้องตอบเพลงชาย

(ลูกคู่) เชียะ ช่อ แม่เอยดอกไม้ ลุกขึ้นมาไว ๆ นะนวล เอย ฯลฯ

การแต่งกายผู้เล่นเพลงสงคอลำพวน
การเล่นเพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดานของชุมชนโพหัก เป็นการเล่นที่มีขึ้นเพื่อเกิดความสนุกสนานระหว่างทำงานรวมกันเป็นหมู่เป็นการร้องเล่นที่ทำให้ไม่นึกความเหน็ดเหนื่อย และเบื่อหน่าย ดังนั้นความมุ่งหมายไม่ได้แต่งกายเพื่อความสวยงาม จึงเป็นการแต่งกายเพื่อจะทำงาน เสื้อผ้าที่ใส่ฝ่ายหญิงเป็นเสื้อแขนยาวสีดำหรือสีน้ำเงิน นุ่งโจงกระเบน ที่ศีรษะมีงอบกันแดด ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย ใส่เสื้อแขนยาวสีดำหรือสีน้ำ เงิน ที่ศีรษะสวมหมวกสาน นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่ใช้ในการทำงาน คือ คันฉาย ที่ใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำงานรวบรวมฟาง จัดฟาง หรือเขี่ยฟาง

เก็บข้อมูล ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2549 โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

ภาพการแต่งกายของผู้เล่นเพลงสงคอลำพวน
ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2552).เพลงสงคอลำพวน. แหล่งความรู้ออนไลน์ : ศิลปะการแสดงภาคกลาง. [Online]. Available :http://www.culture.go.th/knowledge/center.html. [2553 ตุลาคม 11 ].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น