วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เพลงปรบไก่ บ้านเวียงทุน

เพลงปรบไก่
บ้านเวียงทุน ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรีประวัติเพลงปรบไก่
 
ภาพการแต่งกายผู้เล่นเพลงปรบไก่

เพลงปรบไก่ เป็นเพลงร้องพื้นบ้าน ของชุมชนเวียงทุน หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี มีหลักฐานจากการเล่าของชาวชุมชนเวียงทุนและผู้เล่นเพลงปรบไก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ เชื่อว่าเพลงปรบไก่เป็นของหมู่บ้านเวียงทุนที่เล่นกันมานานกว่า 200 ปี 

ลุงหล่อ เคลือบสำริต ปัจจุบันอายุ 75 ปี ท่านคือพ่อเพลง ในการเล่นเพลงปรบไก่ในปัจจุบัน  ได้เล่าว่า

"เคยดูชาวบ้านเวียงทุนเล่นเพลงร้องปรบไก่แก้บนที่ศาลเจ้าพ่อโคกกระต่าย ผมเห็นเขาเล่นกันมาตั้งแต่ผมจำความได้  ผมคุ้นเคยกับเพลงปรบไก่มาตลอดชีวิต เพราะคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย ท่านเป็นแม่เพลง ในการเล่นเพลงปรบไก่ในเวลานั้น  ผมตามคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย ไปเล่นเพลงปรบไก่ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ การเล่นเพลงปรบไก่เป็นที่รู้กันว่าผู้ที่เล่นเป็นแม่เพลงได้ คือสามารถร้องเพลงเชิญได้

และในสมัยเดียวกันกับคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย มีแม่ถ้วน เพียรนาค ซึ่งเป็นแม่บุญธรรม ของผมท่านเล่นอยู่ด้วยกัน เมื่อคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย เสียชีวิตซึ่งตอนนั้นคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย อายุได้ 90 ปี แม่ถ้วนจึงเล่นเป็นแม่เพลงต่อมา และในสมัยนั้นมีพ่อเพลง แม่เพลงประมาณ 10 คน ส่วนตัวผมได้ตามแม่ถ้วนไปเล่นเพลงปรบไก่แก้บนที่ศาลนี้อยู่ด้วยอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นยังเด็กมากแม่ให้ร่วมเล่นกับลูกคู่ได้เพียงแค่ตบมือให้จังหวะ  เมื่อแม่ถ้วนเสียชีวิตขณะนั้นท่านอายุได้ 90 ปี ผมจึงได้เป็นพ่อเพลงปรบไก่จนถึงปัจจุบัน”

จากคำเล่าข้างต้นนั้น เพลงปรบไก่บ้านเวียงทุนจึงมีการเล่นกันมาสามชั่วอายุคน สำหรับแม่เหม อินทร์สวาท เป็นคนในหมู่บ้านเวียงทุน เคยเล่นเพลงปรบไก่รุ่นเดียวกับคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย และแม่ถ้วน เพียรนาค ต่อมาได้ไปแต่งงานกับคนอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงนำเพลงปรบไก่บ้านเวียงทุนเล่นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จนเป็นที่แพร่หลายและมีชื่อเสียงได้รับโล่เกียรติยศ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และศูนย์สังคีตศิลป์ ในพิธีเชิดชูเกียรติศิลปิน พื้นบ้าน ครั้งที่ 1 สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ปี 2525

ลักษณะเพลงปรบไก่
ลักษณะเพลงปรบไก่บ้านเวียงทุน เป็นการร้องเพลงการด้นกลอนสดของพ่อเพลง แม่เพลง ร้องโต้ตอบแก้กัน มีลูกคู่ยืนเป็นวงกลมปรบมือไปพร้อมกับการร้องรับส่วนพ่อเพลง แม่เพลงยืนร้องเล่นอยู่กลางวง ใช้ผู้เล่นประมาณ 10 คน ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ บทร้องประกอบไปด้วย  เพลงร้องเชิญ(ไหว้ครู) เพลงร้องปรบไก่ เพลงร้องส่ง และจบลงด้วยเพลงร้องลา บทร้องส่งเป็นเนื้อหาในวรรณคดี เรื่องนางกากี เรื่องนางมโนราห์ เป็นต้น เพลงร้องที่ด้นกลอนสดร้องด้วยคำที่หนักไปทางเพศ และมีถ้อยคำ หยาบคาย การร้องของพ่อเพลงนั้นร้องเลี่ยงคำหยาบในบางโอกาส และบางโอกาสใช้ถ้อยคำทางเพศอย่างตรงไปตรงมา

วิธีการและขั้นตอนการเล่นเพลงปรบไก่
เพลงปรบไก่บ้านเวียงทุนเล่นร้องกันเป็นวง โดยกำหนดจาก พ่อเพลง แม่เพลง ร้องเพลงปรบไก่ แล้วร้องต่อด้วยร้องส่ง พร้อมกับการรับของลูกคู่ที่เดินรอบวงกันไป และจบลงที่เพลงร้องส่ง เรียกว่า 1 วง

การร้องมีการรำประกอบของพ่อเพลง แม่เพลงด้วยท่ารำเป็นท่าที่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทที่ร้องปรบไก่หรือร้องส่งหรือในเพลงร้องลาก็มีท่ารำเช่นกัน การเล่นเพลงปรบไก่กับการแก้บนมีขั้นตอนในการจะใช้เพลงปรบไก่เล่นแก้บน โดยเริ่มด้วยเจ้าภาพผู้แก้บนนำเครื่องแก้บนประกอบไปด้วยกล้วยสุก มะพร้าวอ่อน และเพลงปรบไก่ 2 วง นำไปไหว้ที่ศาลเจ้าพ่อโคกกระต่าย และนำเครื่องบูชาครูเพลงปรบไก่ ได้แก่ พานธูป เทียน ดอกไม้ เหล้า บุหรี่ เงินจำนวน 12 บาทส่งให้พ่อเพลงปรบไก่แล้วจึงเริ่มเล่นเพลงร้องตามลำดับ เริ่มเพลงเชิญ(ไหว้ครู) ตามด้วยบทเพลงร้องปรบไก่ เพลงร้องส่งเล่นต่อเนื่องเป็นวงๆ ไป จนกว่าจะครบ ตามวงที่เจ้าภาพบนไว้ เมื่อครบแล้วจึงร้องเพลงลา

การแต่งกายผู้เล่นเพลงปรบไก่
ปัจจุบันพ่อเพลงใส่เสื้อคอกลมมีลวดลาย หรือไม่มีลวดลายเป็นเสื้อคอกลม ผ้าพื้นสีต่างๆ ตามความชอบ และนุ่งทับเสื้อด้วยโจงกระเบนลาย พันผ้าใต้เอวคาดเข็มขัด ส่วนแม่เพลงใส่เสื้อลูกไม้ก็มี ใส่เสื้อ
สีก็มี เป็นเสื้อคอดเอว และจะนุ่งโจงกระเบนลาย มีผ้าสไบคาดที่เอว ปล่อยชายสไบลงมา และมีเครื่องประดับตามที่ส่วนตัวจะมีใส่กัน ลูกคู่ทั้งชายหญิงแต่งตัว เช่นเดียวกับพ่อเพลง และแม่เพลง

เก็บข้อมูล ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2549 โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

ภาพการแต่งกายผู้เล่นเพลงปรบไก่

ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2552).เพลงปรบไก่. แหล่งความรู้ออนไลน์ : ศิลปะการแสดงภาคกลาง. [Online]. Available :http://www.culture.go.th/knowledge/center.html. [2553 ตุลาคม 11 ].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น