วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทกวีอาลัยรัก ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร

ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร
ดูประวัติ
บทกวี : อาลัยรักแด่...ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร เสาหลักแห่งวงการนักพูดไทย

“ศิษย์นักพูด คารวะ วาทการ กราบอาจารย์ นิพนธ์ ศศิธร…”

คลองดำเนิน ไหลริน ถวิลหา
เหมือนน้ำตา แผ่นดิน ที่รินไหล
ราชบุรี ร้าวราน สะท้านใจ
ศรีนครินทร์ ร่ำไห้ อาลัยลา

โอ้สิ้นแล้ว เสาหลัก นักพูดไทย
ผู้ยิ่งใหญ่ ในผลงาน การศึกษา
ยอดแห่งครู ผู้ประเสริฐ เลิศปัญญา
ผู้ปรารถนา ในธรรม นำสังคม

เพื่อสังคม เป็นธรรม ท่านนำหน้า
การศึกษา คือพลัง ท่านสั่งสม
ท่านพากเพียร เขียนพูด พิสูจน์คม
ชนชื่นชม ศรัทธา วิชาการ

เหมือนจันทร์คล้อย ลอยพราก ไปจากฟ้า
เมื่อชีวา ล่วงลิบ ทิพย์สถาน
แต่แสงแห่ง นฤมิต จิตวิญญาณ
ยังตระการ ส่องสว่าง กลางใจชน

กราบเสาหลัก แห่งวิชา วาทศิลป์
ปราชญ์แผ่นดิน ผู้ยิ่งใหญ่ ในทุกหน
กราบยอดครู ปูชนีย- บุคคล
กราบอาจารย์ นิพนธ์ ศศิธร

ศศิธร ยังจรัส รัศมี
คุณความดี ยังโดดเด่น เป็นอนุสรณ์
กระจ่างงาม นาม “นิพนธ์ ศศิธร”
หอมขจร ไปทั่วทิศ นิจนิรันดร์...

----------------------------

ผู้ประพันธ์ : ดร.อภิชาติ ดำดี
นักพูด ศิษย์ ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร
ว่าที่ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกระบี่ ปี 2549
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทกลอนสภากาแฟราชบุรี 13 ต.ค.2553

งานสภากาแฟของจังหวัดราชบุรี เมื่อวันพุธที่ 13 ต.ค.2553 โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นเจ้าภาพ สถานที่จัดจวนผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี  โดย นายสายัณห์ ศรีสมุทรนาค ลุงจุกจ้อข่าว FM.91.75 MH.z , HCTV ได้ประพันธ์บทกลอนสภากาแฟ อ่านในงาน

วันนี้สภากาแฟ มาบรรจบ ครบรอบ กันอีกหน
คนชื่อฝน คือพิรุณ สกุลสีแสง
รวมสรรชัย ชมพูพล คนชื่อแดง
ไม่ได้แย่ง เป็นเจ้าภาพ ทราบกันดี

ทั้งหัวหน้า สำนักงานใหญ่ ไฟแรงสูง
คอยปรับปรุง เสา-สายไฟ ให้สุขขี
สว่างไสว ไฟรุ่งเรือง เมือง-ราชบุรี
ชื่อสมบูรณ์ ลีลา-อภิรดี คนมีไฟ

อีก1ท่าน ในงานเห็น เป็นเจ้าภาพ
เรียนให้ทราบ ชื่อประยงค์ อย่าสงสัย
ทำหน้าที่ หัวหน้าแผนก แบ่งแยกไฟ
ให้เราใช้ ไฟฟ้ายาม ทุกค่ำคืน

เรื่องไฟฟ้า ใครไม่ใช้ ไม่ได้แน่
แต่ที่แย่ ซิ.ค่าไฟ ให้ทนฝืน
ค่า FT มีประเด็น เห็นแล้วมึน!
ใช้ทุกคืน ขืนข่มใจ ค่าไฟแพง

เรื่องดังกล่าว เขาไม่เกี่ยว เดี๋ยวสับสน
ทั้ง 4 คน ทนคำถาม ตามแถลง
หน้าที่เขา ต้องปักเสา เอาหม้อแปลง
ค่าไฟแพง ตามไปทุบ ศุภกร

แต่ตอนนี้ ย้ายไปใหญ่ ในเมืองเพชร
ซี 11 เทียบอย่างไร ใครช่วยสอน
ราชการ ระดับนี้ ดีแน่นอน
แต่บางตอน ต้องตรากตรำ ย้ำ-การเมือง

ทุกองค์กร วอนช่วยกัน หันหน้าเข้า
ปกป้องเสา และสายไฟ ไปถึงเหมือง
ถึงจะผ่าน สวนไร่นา ขออย่าเคือง
อย่ามีเรื่อง ถอดน๊อตขาย น่าอายจริง

น้ำท่วมล้น โคลนถล่ม ลมกระโชก
โลกทั้งโลก ไม่มีไฟ คล้ายผีสิง
ถึงมีไฟ ขาดสาย-เสา เอาเข้าจริง
กินข้าวลิง กันไปก่อน แน่นอนชัวร์

ความสำคัญ งานปักเสา เราคงทราบ
ต้องก้มกราบ คนทำไฟ ใหญ่ท่วมหัว
สว่างจ้า ตาไม่มืด ตาไม่มัว
ทุกครอบครัว โดยทั่วไป ใช้ไฟเพลิน

ขอขอบคุณ ทางเจ้าภาพ ทั้ง 4 ท่าน
พนักงาน เจ้าหน้าที่ ดี-สรรเสริญ
จัดบางครั้ง ข้างตลาด ไม่ขาดเกิน
ไม่ใช้เงิน ผู้ว่าให้ ใช้-บริเวณ

ก็ต้องกล่าว ขอขอบคุณ ผู้ว่าด้วย
ที่ท่านช่วย ไม่ต้องเช่า เราก็เห็น
เลี้ยงตอนเช้า เราไม่อยู่ สู้ถึงเย็น
ถ้าเลี้ยงเพล คงได้เห็น เราอีกครา

ก่อนจะจบ คำเจ็บเจ็บ เหน็บกันบ้าง
ห้ามใครอ้าง ไม่มีที่ จัด-สรรหา
ไม่มีจริง นึกถึงจวน ชวนกันมา
ขอปรบมือ ให้ผู้ว่า ใบหน้า-นายอำเภอ

ประพันธ์โดย ลุงจุกจ้อข่าว 
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รำโทน ราชบุรี

รำโทน ราชบุรี

ประวัติเพลงรำโทนชุมชนบ้านโพหัก ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ
ประมาณ พ.ศ.2484 ได้มีการร้องการรำเพลงรำโทนปรากฏขึ้นแล้วในชุมชนโพหัก ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2532 เป็นปีที่วัดใหญ่โพหักสร้างโบสถ์ คณะกรรมการวัดจึงริเริ่มตั้งคณะเพลงรำ โทนขึ้น ผู้อาวุโสสามารถร้องรำเพลงรำโทนได้หลายคน มารวมตัวกันเพื่อทบทวนเพลง การรวบรวมเพลงครั้งนี้ สามารถรวบรวมได้เจ็ดสิบกว่าเพลง ครั้งแรกที่แสดงได้ใช้วิธีฝ่ายชายเป็นผู้ซื้อพวงมาลัยเป็นผู้คล้องฝ่ายหญิง ทำให้มีการแข่งขันในกลุ่มญาติ กลุ่มเพื่อนของนักรำ ฝ่ายหญิง เงินที่ได้มาจากการขายพวงมาลัย นำไปถวายวัดเพื่อสร้างโบสถ์  และยังเป็นวิธีหนึ่งที่จะได้รักษาเพลงพื้นบ้านที่ชาวบ้านโพหัก นอกจากนี้ บรรยากาศในการเล่นจึงสนุกสนาน ต่อมาคณะโพหักสีทองจึงมีการจัดการเข้าร่วมประกวดการเล่นเพลงรำโทนกับวัดคลองตาคต ก่อนไปประกวดมีการจัดการรวบรวมเพลง และมีการแต่งเนื้อร้องและทำนองขึ้นใหม่บ้างเพื่อใช้ในการประกวด  

ปัจจุบันเพลงรำโทนชุมชนบ้านโพหัก เป็นการแสดงสาธิต เพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาวชุมชนโพหักไว้

ภาพการแสดงท่าทางในบทร้องเพลงรำโทน
บ้านตลาดควาย
ประวัติเพลงรำโทนบ้านตลาดควาย ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง
รำโทนบ้านตลาดควายเป็นกิจกรรมการร้องรำทำเพลงพื้นบ้านของชาวไทยโซ่งบ้านตลาดควาย อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี กิจกรรมนี้มีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๓ หลังก่อตั้งกิ่งอำเภอ และผู้นำกิ่งอำเภอขณะนั้นคือปลัดกิ่งอำเภอคนที่ ๒ ครั้งแรกก่อนจะมีรำโทนเป็นการรำถวายมือหน้าศาลเจ้าตลาดควายนั้น รำโทนเป็นกิจกรรมหลังจากทำบุญกลางบ้านของชาวชุมชนบ้านตลาดควายของชาวไทยโซ่ง จัดพิธีไหว้ศาลเจ้าพ่อตลาดควาย เมื่อพิธีไหว้ศาลเสร็จถึงเวลาตกค่ำ มีการจัดให้สาวไทยโซ่งรำหน้าศาลเป็นการรำตามบทเพลงที่แต่งขึ้นเอง กับจังหวะดนตรีของโทน

วิธีการและขั้นตอนของเพลงรำโทนพื้นบ้านจังหวัดราชบุรี

ภาพการแสดงท่าทางในบทร้อง
เพลงรำโทนบ้านโพหัก
เพลงรำโทนบ้านโพหัก มีผู้ร่วมเล่นกันประมาณ 20-30 คน วิธีเล่นมีกลุ่มเล่นดนตรีประกอบจังหวะ คือ กลอง ฉาบ และฉิ่ง อาจมีคนตบมือให้จังหวะในการร้อง มีดนตรี คือ กลอง หรือ โทน ฉิ่ง และฉาบ ทำจังหวะให้นักร้องนักรำ และนักร้องบางครั้งอาจมีลูกคู่ช่วยร้องหลายคนก็มี ส่วนกลุ่มนักรำชายและกลุ่มนักรำหญิงมีวิธีแสดงโดยเริ่มจากฝ่ายหญิงนั่งรอฝ่ายชายมาโค้งและนักดนตรีร้องสดไม่มีขนบการเรียงลำดับเพลง ใช้วิธีจดจำ ทั้งนักรำชายหญิงเมื่อเริ่มรำและร้องเพลงตาม จะใช้ท่ารำสอดคล้องไปกับความหมายของบทร้อง โดยใช้ท่ารำ คิดขึ้นขณะรำ ไปตามอารมณ์ ฝ่ายชายทุกคนสามารถตีกลองให้จังหวะได้ ดังนั้นการร่วมเล่น ร้อง รำ เพลง รำโทนนี้มีความสนุกสนานตรงที่ทุกคนมีการสับเปลี่ยนกันร้องบ้างและนักร้องบางทีก็ไปร่วมรำกับผู้รำในวง ซึ่งเป็นการร้องแทนกันบ้าง รำ แทนกันบ้าง หรือเล่นดนตรีแทนสลับหมุนเวียนกันไปเป็นบรรยากาศที่สนุกสนาน

เพลงรำโทนบ้านตลาดควาย วิธีการเล่นผู้เล่นมีเฉพาะฝ่ายหญิงเป็นสาวชาวไทยโซ่ง การที่มีเฉพาะฝ่ายหญิงชุมชนชาวไทยโซ่งมีจุดประสงค์เปิดโอกาสให้ชายหนุ่มจากชุมชนอื่นเข้ามาในหมู่บ้านและร่วมเล่นกับสาวๆ

เพลงและบทร้องรำโทนพื้นบ้านจังหวัดราชบุรี
เพลงและบทร้องเพลงรำ โทนทั้งชุมชนตำบลโพหักและชุมชนบ้านตลาดควาย มีจำนวนมากกว่า 100 เพลง เป็นคำคล้องจองไม่มีฉันทลักษณ์ที่เป็นขนบยึดถือ ความยาวขึ้นกับความต้องการ เนื้อหาคำร้องมีความหมายในเชิงการเกี้ยวพาราสี การบอกเหตุการณ์ของสงครามโลก ส่วนการร้องจะร้องซ้ำ สอง สาม หรือสี่เที่ยว การรำไม่มีแบบแผน เน้นการแสดงท่ารำ ตามความหมายในคำร้อง และตีบทท่ารำ ขณะรำ ซึ่งจะประกอบกับอารมณ์ที่สนุกสนาน และมีอารมณ์ในการหยอกล้อระหว่างชายหญิง

ตัวอย่างบทร้องเพลงรำโทน บ้านโพหัก

เพลงไตรรงค์
ผู้ขับร้อง นายจรัล เพ็งแจ่ม
สาธิตการแสดง นางสาวทิพวัลย์ เกิดเรียน

ไตรรงค์ธงไทยโบกไสวให้ลอยละลิ่วเห็น
ธงชัยปลิวห้าริ้วสีธงท้องฟ้าสีครามแลดูงาม
สดใส ยิ่งกว่าเกียรติไทยของเรานั้นเราพลี
ชีวิตเอาโลหิตเขามาเสริมส่งกระดูกแขนนั้น
ทำเป็นแท่นไตรรงค์ เอาโลหิตเสริมส่งธงชัยสมรภูมิ


เพลงพบสาวงาม
ผู้ขับร้อง นายจรัล เพ็งแจ่ม
สาธิตการแสดง นางสาวทิพวัลย์ เกิดเรียน
(ช) ยามเมื่อพบสาวงาม ฉันขอตามไปด้วย โอ้แม่คนสวยถามว่าจะไปไหนกัน
(ญ) ฉันจะไปทางไหนมันเรื่องอะไรของเธอนั่นเล่า
(ช) ฉันพูดเบา ๆ ว่าฉันกะไรรักเธอ
(ญ) ฉันไม่รับรัก ประเดี๋ยวเมียเธอตามมาด่า
(ช) เมียพี่ไม่มาสัญญากันว่าไม่มี
(ญ) ไม่มีก็ไม่รัก
(ช) อกหักเสียแล้วคราวนี้
(ญ) ไม่รู้ไม่ชี้ไปซิฉันไม่อยากรำไปซิฉันไม่อยากรำ


ตัวอย่างเพลงและบทร้องเพลงรำโทนบ้านตลาดควาย

เพลงชักชวนสาวงาม
ผู้ขับร้อง นางรอด สิทธิคะนึง

ชักชวนสาวงามฟ้อนรำ ถวายหลวงพ่อ
อนิจจารูปหล่อ คิ้วต่อยักคิ้วข้างเดียว
ขาไปเอาเรือยนต์เข้าไปรับ ขากลับกระไรน้ำเชี่ยว
รักเธอคนเดียว น้ำเชี่ยวอุตส่าห์ไปรับ

เพลงไหว้ครูรำโทน
ผู้ขับร้อง นางรอด สิทธิคะนึง

ไหว้ครูรำโทน ประดิษฐ์บรรจงที่สั่งสอนมา
เดชะครูบาชะเอ่อเอย ฉันได้มารำโทน
จะไหว้ครูรำโทน ประดิษฐ์บรรจงที่สั่งสอนมา
เดชะครูบา ชะเอ่อเอย ฉันได้มารำโทน

การแต่งกายของนักรำโทนเพลงพื้นบ้านจังหวัดราชบุรี

การแต่งกายของนักรำนักร้องเพลงรำโทนบ้านโพหัก ลักษณะการแต่งกายในแสดงเพลงรำโทนในอดีต ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นักรำสาวๆ เพลงรำโทนตำบลโพหักแต่งชุดกระโปรงบาน ติดกันกับเสื้อที่รัดเข้ารูปร่างแขนกระปุก เสื้อมีหลากสีและบางครั้งก็เป็นลวดลาย ส่วนฝ่ายชายสวมเสื้อคอกลมนุ่งกางเกงมีผ้าผูกรอบเอวลักษณะการแต่งกายของนักรำเพลงรำโทนชุมชนโพหักในปัจจุบันเป็นนักรำรุ่นเดิมเป็นวัยอาวุโส ใช้ผ้ามันนุ่งโจงกระเบน และใส่เสื้อรูปแบบที่เหมาะสมกับวัยตามสมัยนิยมของรุ่นผู้อาวุโสปัจจุบัน การแสดงครั้งนี้ผู้อาวุสชาวโพหัก มีวัตถุประสงค์จะสืบทอดและรักษาเพลงรำโทนให้เป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชนตำบลโพหักต่อไป

การแต่งกายของนักรำนักร้องเพลงรำโทนบ้านตลาดควาย ตำบลจอมบึง การแต่งกายของนักรำและนักดนตรีในการแสดงเพลงรำโทน ชุมชนบ้านตลาดควาย เป็นการแต่งกายมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เนื่องจากชุมชนบ้านตลาดควาย ทุกคนเป็นคนไทยเชื้อสายลาวโซ่ง ผู้ชายสวมเสื้อไทยเรียกเสื้อซอนนุ่งกางเกงสีดำมีผ้าคาดเอวผู้หญิงคาดผ้าเปียวพัน รอบอก ทิ้งชายผ้าไว้ข้างลำตัว

เก็บข้อมูลโดย ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2549 โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

การแต่งกายเพลงรำโทน
ตำบลโพหักของฝ่ายหญิง
ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2552).รำโทน ราชบุรี. แหล่งความรู้ออนไลน์ : ศิลปะการแสดงภาคกลาง. [Online]. Available :http://www.culture.go.th/knowledge/center.html. [2553 ตุลาคม 11 ].
อ่านต่อ >>

เพลงสงคอลำพวน บ้านโพหัก

เพลงสงคอลำพวน
บ้านโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี 

ประวัติเพลง 
ภาพการแต่งกายของผู้เล่นเพลงสงคอลำพวน
เพลงสงคอลำพวน เป็นการเล่นเพลงของชุมชนชาวโพหักที่เกี่ยวกับอาชีพการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนการเล่นเพลงไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเริ่มมีการเล่นตั้งแต่สมัยใดแต่สามารถสันนิษฐานได้จากการเล่าของผู้อาวุโสชาวโพหักว่า ปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษได้เล่นเพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดานกันมาแล้วทั้งนั้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และเล่นเพลงเหล่านี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำนาเมื่อร้องเกริ่นกันพอสมควรแล้ว ฝ่ายชายจึงร้องเป็นทำนองเชิญชวนขึ้นก่อนจากนั้นฝ่ายหญิงและชายจะร้องแก้กันไป

เพลงสงคอลำพวน เพลงสงฟางจะเล่นต่อจากเพลงพานฟาง เมื่อแยกฟางออกไปยังขอบลานชาวนาจึงเอาตะแกรงมาร่อนเศษฟางออก ระหว่างช่วยกันร่อนนี้เองจึงมีการร้องเพลงสงคอลำพวน เริ่มร้องด้วยคนที่มีเสียงดีก่อน ชายหรือหญิงโห่ก่อนก็ได้จนครบฝ่ายละ 3 ลา แล้วฝ่ายชายจึงร้องเกริ่นเป็นบทสั้นๆ เช่น 

โห่ขึ้นแล้วให้ครบสามหน รับสายสิญจน์มงคล วนให้รอบลานเอย โห่ขึ้น
แล้วทำไมไม่ถึงเจอกับขันชนกันดังตึง โห่
แล้วไม่ถึงลานเอย เสียงใครเขาโห่มาโน่น
ฉาวๆ จะเป็นเขมรหรือ มอญ ลาว โห่แล้วก็เงียบหายเอย ฯลฯ
 
เมื่อร้องเกริ่นกันพอสมควรแล้ว ฝ่ายชายจึงร้องเป็นทำนองเชิญชวนขึ้นก่อน จากนั้นฝ่ายหญิงและชายจะร้องแก้กันไป เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่จะเป็นการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหญิงในบางครั้งอาจจะมีคำ ที่สองแง่สองง่ามอันเป็นเอกลักษณ์ของความสนุกสนานด้วย

ฉันทลักษณ์ของเพลงจะเป็นกลอนสัมผัสอย่างง่ายๆ ร้องต่อกันไปด้วยปฏิภาณไหวพริบของผู้ร้อง เช่น

(สร้อย) สงคอลำพวนเอย ลำพวนก็ลำเอยไพ ที่ตั้งไว้เผื่อ ปูเสื่อไว้ท่า
มาเถิดหนา แม่มาไวๆ เถอหนาแม่มา แม่คิ้วถี่มาเล่นกับพี่ไวๆ 

(ลูกคู่) เชียะ ช่อ แม่เอ๋ยดอกไม้ มาเล่นกับพี่ไว ๆ นะนวลเอย

(สร้อย) สงคอลำพวนเอย ลำพวนก็ลำเอยไพ ให้แม่ลุกจากฉาก คายหมากออกมากอง ให้แม่ลุกขึ้นมา ร้องตอบเพลงชาย

(ลูกคู่) เชียะ ช่อ แม่เอยดอกไม้ ลุกขึ้นมาไว ๆ นะนวล เอย ฯลฯ

การแต่งกายผู้เล่นเพลงสงคอลำพวน
การเล่นเพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดานของชุมชนโพหัก เป็นการเล่นที่มีขึ้นเพื่อเกิดความสนุกสนานระหว่างทำงานรวมกันเป็นหมู่เป็นการร้องเล่นที่ทำให้ไม่นึกความเหน็ดเหนื่อย และเบื่อหน่าย ดังนั้นความมุ่งหมายไม่ได้แต่งกายเพื่อความสวยงาม จึงเป็นการแต่งกายเพื่อจะทำงาน เสื้อผ้าที่ใส่ฝ่ายหญิงเป็นเสื้อแขนยาวสีดำหรือสีน้ำเงิน นุ่งโจงกระเบน ที่ศีรษะมีงอบกันแดด ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย ใส่เสื้อแขนยาวสีดำหรือสีน้ำ เงิน ที่ศีรษะสวมหมวกสาน นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่ใช้ในการทำงาน คือ คันฉาย ที่ใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำงานรวบรวมฟาง จัดฟาง หรือเขี่ยฟาง

เก็บข้อมูล ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2549 โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

ภาพการแต่งกายของผู้เล่นเพลงสงคอลำพวน
ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2552).เพลงสงคอลำพวน. แหล่งความรู้ออนไลน์ : ศิลปะการแสดงภาคกลาง. [Online]. Available :http://www.culture.go.th/knowledge/center.html. [2553 ตุลาคม 11 ].
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เพลงพานฟาง บ้านโพหัก

เพลงพานฟาง
บ้านโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

การแต่งกายของผู้เล่นเพลงพานฟาง
ประวัติเพลง
การเล่นเพลงพานฟาง เป็นการเล่นเพลงของชุมชนชาวโพหักที่เกี่ยวกับอาชีพการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน การเล่นเพลงไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเริ่มมีการเล่นตั้งแต่สมัยใด แต่สามารถสันนิษฐานได้จากการเล่าของผู้อาวุโสชาวโพหักว่า ปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษได้เล่นเพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดานกันมาแล้วทั้งนั้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และเล่นเพลงเหล่านี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำนา

เพลงพานฟาง
เพลงพานฟางนั้น ใช้ร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง ขณะพานฟางในลานนวดข้าว เมื่อข้าวหลุดออกจากรวงหมดแล้ว จึงช่วยกันแยกฟางออกไปไว้บริเวณขอบลานให้เหลือเมล็ดข้าวในลาน การเขี่ยฟางออกนี้เรียกว่า พานฟาง ในการพานฟางออกนี้จะทำอย่างมีระเบียบ มีการวางซ้อนกันที่เรียกว่า ลอมฟาง และจะร้องเพลงพานฟาง มีทำนองคล้ายกับเพลงสงฟาง แต่มีฉันทลักษณ์ง่าย ๆ ที่ใช้เป็นกลอนสั้นๆ โดยขึ้นต้นว่า พานเถอะหนาแม่พาน เช่น

ชาย พานเถอะหนาแม่พาน (รับเฉยไว้ๆ) พานเถอะหนาแม่พานแม่นั่งรอบๆ ขอบลาน มาช่วยกันพานฟาง
(รับ) ช้าเจ้าเอ๋ย ฟางเอ๋ยแม่นั่งรอบๆ อยู่ขอบลานมาช่วยกันพานฟางเอย
หญิง พานเถอะหนาพ่อพาน (รับเฉยไว้ๆ) พานเถอะหนาพ่อพาน ไอ้ท้ายรูดๆ ไอ้ตูดบานๆ มาช่วยกันพานฟางเอย

การแต่งกายผู้เล่นเพลงพานฟาง
การเล่นเพลงพานฟาง ของชุมชนโพหัก เป็นการเล่นที่มีขึ้นเพื่อเกิดความสนุกสนานระหว่างทำงานรวมกันเป็นหมู่เป็นการร้องเล่นที่ทำให้ไม่นึกความเหน็ดเหนื่อย และเบื่อหน่าย ดังนั้นความมุ่งหมายไม่ได้แต่งกายเพื่อความสวยงาม จึงเป็นการแต่งกายเพื่อจะทำงาน เสื้อผ้าที่ใส่ฝ่ายหญิงเป็นเสื้อแขนยาวสีดำหรือสีน้ำเงินนุ่งโจงกระเบน ที่ศีรษะมีงอบกันแดด ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย ใส่เสื้อแขนยาวสีดำหรือสีน้ำ เงิน ที่ศีรษะสวมหมวกสาน

เก็บข้อมูล ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2549 โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

การแต่งกายของผู้เล่นเพลงพานฟาง
ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2552).เพลงพานฟาง. แหล่งความรู้ออนไลน์ : ศิลปะการแสดงภาคกลาง. [Online]. Available :http://www.culture.go.th/knowledge/center.html. [2553 ตุลาคม 11 ].
อ่านต่อ >>

เพลงปรบไก่ บ้านเวียงทุน

เพลงปรบไก่
บ้านเวียงทุน ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรีประวัติเพลงปรบไก่
 
ภาพการแต่งกายผู้เล่นเพลงปรบไก่

เพลงปรบไก่ เป็นเพลงร้องพื้นบ้าน ของชุมชนเวียงทุน หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี มีหลักฐานจากการเล่าของชาวชุมชนเวียงทุนและผู้เล่นเพลงปรบไก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ เชื่อว่าเพลงปรบไก่เป็นของหมู่บ้านเวียงทุนที่เล่นกันมานานกว่า 200 ปี 

ลุงหล่อ เคลือบสำริต ปัจจุบันอายุ 75 ปี ท่านคือพ่อเพลง ในการเล่นเพลงปรบไก่ในปัจจุบัน  ได้เล่าว่า

"เคยดูชาวบ้านเวียงทุนเล่นเพลงร้องปรบไก่แก้บนที่ศาลเจ้าพ่อโคกกระต่าย ผมเห็นเขาเล่นกันมาตั้งแต่ผมจำความได้  ผมคุ้นเคยกับเพลงปรบไก่มาตลอดชีวิต เพราะคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย ท่านเป็นแม่เพลง ในการเล่นเพลงปรบไก่ในเวลานั้น  ผมตามคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย ไปเล่นเพลงปรบไก่ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ การเล่นเพลงปรบไก่เป็นที่รู้กันว่าผู้ที่เล่นเป็นแม่เพลงได้ คือสามารถร้องเพลงเชิญได้

และในสมัยเดียวกันกับคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย มีแม่ถ้วน เพียรนาค ซึ่งเป็นแม่บุญธรรม ของผมท่านเล่นอยู่ด้วยกัน เมื่อคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย เสียชีวิตซึ่งตอนนั้นคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย อายุได้ 90 ปี แม่ถ้วนจึงเล่นเป็นแม่เพลงต่อมา และในสมัยนั้นมีพ่อเพลง แม่เพลงประมาณ 10 คน ส่วนตัวผมได้ตามแม่ถ้วนไปเล่นเพลงปรบไก่แก้บนที่ศาลนี้อยู่ด้วยอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นยังเด็กมากแม่ให้ร่วมเล่นกับลูกคู่ได้เพียงแค่ตบมือให้จังหวะ  เมื่อแม่ถ้วนเสียชีวิตขณะนั้นท่านอายุได้ 90 ปี ผมจึงได้เป็นพ่อเพลงปรบไก่จนถึงปัจจุบัน”

จากคำเล่าข้างต้นนั้น เพลงปรบไก่บ้านเวียงทุนจึงมีการเล่นกันมาสามชั่วอายุคน สำหรับแม่เหม อินทร์สวาท เป็นคนในหมู่บ้านเวียงทุน เคยเล่นเพลงปรบไก่รุ่นเดียวกับคุณทวดพิน ปลื้มมาลัย และแม่ถ้วน เพียรนาค ต่อมาได้ไปแต่งงานกับคนอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงนำเพลงปรบไก่บ้านเวียงทุนเล่นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จนเป็นที่แพร่หลายและมีชื่อเสียงได้รับโล่เกียรติยศ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และศูนย์สังคีตศิลป์ ในพิธีเชิดชูเกียรติศิลปิน พื้นบ้าน ครั้งที่ 1 สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ปี 2525

ลักษณะเพลงปรบไก่
ลักษณะเพลงปรบไก่บ้านเวียงทุน เป็นการร้องเพลงการด้นกลอนสดของพ่อเพลง แม่เพลง ร้องโต้ตอบแก้กัน มีลูกคู่ยืนเป็นวงกลมปรบมือไปพร้อมกับการร้องรับส่วนพ่อเพลง แม่เพลงยืนร้องเล่นอยู่กลางวง ใช้ผู้เล่นประมาณ 10 คน ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ บทร้องประกอบไปด้วย  เพลงร้องเชิญ(ไหว้ครู) เพลงร้องปรบไก่ เพลงร้องส่ง และจบลงด้วยเพลงร้องลา บทร้องส่งเป็นเนื้อหาในวรรณคดี เรื่องนางกากี เรื่องนางมโนราห์ เป็นต้น เพลงร้องที่ด้นกลอนสดร้องด้วยคำที่หนักไปทางเพศ และมีถ้อยคำ หยาบคาย การร้องของพ่อเพลงนั้นร้องเลี่ยงคำหยาบในบางโอกาส และบางโอกาสใช้ถ้อยคำทางเพศอย่างตรงไปตรงมา

วิธีการและขั้นตอนการเล่นเพลงปรบไก่
เพลงปรบไก่บ้านเวียงทุนเล่นร้องกันเป็นวง โดยกำหนดจาก พ่อเพลง แม่เพลง ร้องเพลงปรบไก่ แล้วร้องต่อด้วยร้องส่ง พร้อมกับการรับของลูกคู่ที่เดินรอบวงกันไป และจบลงที่เพลงร้องส่ง เรียกว่า 1 วง

การร้องมีการรำประกอบของพ่อเพลง แม่เพลงด้วยท่ารำเป็นท่าที่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทที่ร้องปรบไก่หรือร้องส่งหรือในเพลงร้องลาก็มีท่ารำเช่นกัน การเล่นเพลงปรบไก่กับการแก้บนมีขั้นตอนในการจะใช้เพลงปรบไก่เล่นแก้บน โดยเริ่มด้วยเจ้าภาพผู้แก้บนนำเครื่องแก้บนประกอบไปด้วยกล้วยสุก มะพร้าวอ่อน และเพลงปรบไก่ 2 วง นำไปไหว้ที่ศาลเจ้าพ่อโคกกระต่าย และนำเครื่องบูชาครูเพลงปรบไก่ ได้แก่ พานธูป เทียน ดอกไม้ เหล้า บุหรี่ เงินจำนวน 12 บาทส่งให้พ่อเพลงปรบไก่แล้วจึงเริ่มเล่นเพลงร้องตามลำดับ เริ่มเพลงเชิญ(ไหว้ครู) ตามด้วยบทเพลงร้องปรบไก่ เพลงร้องส่งเล่นต่อเนื่องเป็นวงๆ ไป จนกว่าจะครบ ตามวงที่เจ้าภาพบนไว้ เมื่อครบแล้วจึงร้องเพลงลา

การแต่งกายผู้เล่นเพลงปรบไก่
ปัจจุบันพ่อเพลงใส่เสื้อคอกลมมีลวดลาย หรือไม่มีลวดลายเป็นเสื้อคอกลม ผ้าพื้นสีต่างๆ ตามความชอบ และนุ่งทับเสื้อด้วยโจงกระเบนลาย พันผ้าใต้เอวคาดเข็มขัด ส่วนแม่เพลงใส่เสื้อลูกไม้ก็มี ใส่เสื้อ
สีก็มี เป็นเสื้อคอดเอว และจะนุ่งโจงกระเบนลาย มีผ้าสไบคาดที่เอว ปล่อยชายสไบลงมา และมีเครื่องประดับตามที่ส่วนตัวจะมีใส่กัน ลูกคู่ทั้งชายหญิงแต่งตัว เช่นเดียวกับพ่อเพลง และแม่เพลง

เก็บข้อมูล ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2549 โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

ภาพการแต่งกายผู้เล่นเพลงปรบไก่

ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2552).เพลงปรบไก่. แหล่งความรู้ออนไลน์ : ศิลปะการแสดงภาคกลาง. [Online]. Available :http://www.culture.go.th/knowledge/center.html. [2553 ตุลาคม 11 ].
อ่านต่อ >>

เพลงชักกระดาน บ้านโพหัก

เพลงชักกระดาน
บ้านโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

ภาพการแต่งกายผู้เล่นเพลงชักกระดาน
ประวัติเพลง
เพลงชักกระดาน เป็นการเล่นเพลง ของชุมชนชาวโพหักที่เกี่ยวกับอาชีพการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน การเล่นเพลงไม่พบหลักฐานยืนยันว่าเริ่มมีการเล่นตั้งแต่สมัยใด แต่สามารถสันนิษฐานได้จากการเล่าของผู้อาวุโสชาวโพหักว่า ปู่ย่าตา ยาย และบรรพบุรุษได้เล่นเพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดาน กันมาแล้วทั้งนั้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และเล่นเพลงเหล่านี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำนา

เพลงชักกระดาน
เพลงชักกระดานจะเล่นต่อจาก เพลงสงคอลำพวน โดยร้องกันหลังจากที่ได้ เมล็ดข้าวแล้วจึงรวมข้าวที่กระจายอยู่กลางลานให้เป็นกองใหญ่ โดยใช้ไม้กระดานเจาะรู 2 ข้าง เอาเชือกร้อย มีด้านตรงกลางกระดาน สำหรับใช้คนหนึ่งกดกระดานให้ติดพื้น ส่วนอีกคนหนึ่งจะดึงเชือก จะได้ข้าวทีละมากๆ เรียกว่า ชักกระดาน ระหว่างชักกระดานมีการร้องเพลงชักกระดานมีลักษณะคล้ายเพลงสงคอลำพวน

เนื้อร้อง
เป็นการร้องเกี้ยวพาราสี ระหว่างชายหญิง เนื่องจากขณะที่ชักกระดาน มีการแกล้งเบียดเนื้อเบียดตัวจับมือถือแขนกัน เป็นเรื่องสนุกสนานกันทั้งลาน เช่น

“ เจ้าช่างชักเอย ช้างน้อยห้อยหัก หักบนยอดหลักเกียด (ร้องทวนซ้ำอีกเที่ยวพร้อมกัน) นี่แหละคู่ครองของแม่เนื้อละเอียด (ทุกคนรับพร้อมกันว่าเอ้านอระนอยน่ารักชักให้เสมอกันเอย)

เจ้าช่างชักเอย ช้างน้อยห้อยหัก หักบนยอดสะเดา (รับพร้อมกันซ้ำ) ฉันมันไม่ใช่คู่ครองดอกพ่อทองของ
เรา (รับพร้อมกัน ให้แม่ชวนกันรัก เอานอระนอยน่ารัก ชักให้เสมอกันเอย)"

การแต่งกาย
ผู้เล่นเพลงชักกระดาน เพลงชักกระดานของชุมชนโพหักเป็นการเล่นที่มีขึ้นเพื่อเกิดความสนุกสนานระหว่างทำงานรวมกันเป็นหมู่ เป็นการร้องเล่นที่ทำให้ไม่นึกความเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย ดังนั้นความมุ่งหมายไม่ได้แต่งกายเพื่อความสวยงาม จึงเป็นการแต่งกายเพื่อจะทำงาน

ภาพการแต่งกายผู้เล่นเพลงชักกระดาน


เก็บข้อมูล ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2549 โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี

ที่มา :
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2552).เพลงชักกระดาน. แหล่งความรู้ออนไลน์ : ศิลปะการแสดงภาคกลาง. [Online]. Available :http://www.culture.go.th/knowledge/center.html. [2553 ตุลาคม 11 ].
อ่านต่อ >>

เนื้อเพลงเขมรราชบุรี

เพลงเขมรราชบุรี เถา
เพลงเขมรราชบุรี 3 ชั้น ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นทางของพระยาประสาน ดุริศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ระหว่างที่กำลังแต่งเพลงนี้ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ
(ศร ศิลปบรรเลง) ได้มีส่วนช่วยเหลืออยู่เป็นอันมาก ต่อมานายเฉลิม บัวทั่ง ได้ประดิษฐ์แต่งทั้ง 3 ชั้น 2 ชั้น และชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถาขึ้นอีกทางหนึ่ง

บทร้อง เพลงเขมรราชบุรี เถา
3 ชั้น
ชะรอยกรรมจำพรากต้องจากไกล จะผ่อนผันฉันใดนะอกเอ๋ย
ถ้าแม้เขามิสงสัยไม่ไปเลย จะอยู่เชยชมแก้วกัลยา
หอมกลิ่นกล้วยไม้ที่ใกล้ทาง เหมือนกลิ่นสไบบางขนิษฐา

2 ชั้น
พระเปลี่ยวเปล่าเศร้าสร้อยวิญญาณ์ เหลียวดูคูหาให้จาบัลย์
ตะลึงแลจนลับนัยน์เนตร ยิ่งอาดูรพูนเทวษโศกศัลย์
พระรีบขับอัสดรจรจรัล หมายมั่นดั้นดงตรงมา

ชั้นเดียว
ครั้นถึงที่ประทับพลับพลาทอง ทหารเตรียมตั้งกองอยู่พร้อมหน้า
อันระเด่นสังคามาระตา ออกมารับเสด็จพระภูมี
อันโยธาสองเหล่าเข้าประจบ จัดกระบวนถ้วนครบอยู่ตามที่

(อิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2)

ที่มา :
ประวัติเพลงไทย. http://cdans.bpi.ac.th/thaimusic/page/historysong.html. (สืบค้นเมื่อ 11 ต.ค.2553)
อ่านต่อ >>

เนื้อเพลงเขมรปากท่อ

เพลงเขมรปากท่อ  เถา
เพลงเขมรปากท่อ 2 ชั้น เป็นเพลงสำเนียงเขมรของเก่าเพลงหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเพลงไทยเราแต่งขึ้นโดยเจตนาให้เป็น อนุสรณ์ถึงเขมร ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ณ ตำบลปากท่อ จังหวัดราชบุรี ต่อมาอาจารย์ในทางดุริยางค์ศิลป ได้นำเพลงเขมรปากท่อ 2 ชั้น มาแต่งขึ้นเป็น 3 ชั้น และชั้นเดียว ขึ้นเป็นสามทางด้วยกัน คือทางของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทางหนึ่ง ของจางวางทั่ว พาทยโกศล ทางหนึ่ง กับทางของพระยาประสานดุริยศัพย์ (แปลก ประสานศัพท์) อีกทางหนึ่ง ความหมายของเพลงนี้ แสดงถึงความจำเป็นที่ต้องกระทำและหวาดหวั่นในเหตุภายหน้าที่จะบังเกิดขึ้น

บทร้อง เพลงเขมรปากท่อ เถา

(เนื้อที่ 1)
3 ชั้น 
บัดนี้ดะหมังเสนา ถือสารพระบิดามาให้
เป็นเหตุด้วยดาหาเวียงชัย เกิดการศึกใหญ่ไพรี

2 ชั้น
ให้พี่กรีธาทัพขันธ์ ไปช่วยป้องกันกรุงศรี
จะรับยกพหลมนตรี พรุ่งนี้ให้ทันพระบัญชา

ชั้นเดียว
อยู่จงดีเถิดพี่จะลาน้อง อย่าหม่นหมองเศร้าสร้อยละห้อยหา
เสร็จศึกวันใดจะไคลคลา กลับมาสู่สมภิรมย์รัก


(อิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2)


(เนื้อที่ 2)
3 ชั้น
บัดนั้น นักคุ้มบังคมก้มเกศา
ความเกรงพระราชอาชญา เจรจาเสียงสั่นพรั่นใจ

2 ชั้น
ซึ่งโปรดให้เป็นข้าหลวง ไปทวงส่วยละโว้กรุงใหญ่
ข้ากลับเสียทีพ่อเมืองไทย ชะลอมตักน้ำได้ด้วยง่ายดาย

ชั้นเดียว
ข้านำชะลอมของประหลาด มายังฝ่าบาทเพื่อถวาย
คนไทยจะดีเพราะมีนาย เป็นยอดชายชาญฉลาดสามารถจริง

(พระร่วง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 ทรงแก้ไข)

ที่มา
ประวัติเพลงไทย : http://cdans.bpi.ac.th/thaimusic/page/historysong.html. (สืบค้นเมื่อ 11 ต.ค.2553)
อ่านต่อ >>

บทกลอนส่งนายกิติ ทรัพย์วิสุทธิ์ รอง ผวจ.ราชบุรี. ไปเป็น ผวจ.ฉะเชิงเทรา

วันจันทร์ที่ 4 ต.ค. 53 คณะข้าราชการและสื่อมวลชน จ.ราชบุรี เดินทางไปส่ง นายกิติ ทรัพย์วิสุทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ไปเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดฉะเชิงเทรา นายสายัณห์ ศรีสมุทรนาค (ลุงจุกจ้อข่าว FM.91.75 MHz.) ประพันธ์บทกลอน อ่านที่จวน ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ดังนี้

มาแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา พวกเราทราบ
ขอก้มกราบ พ่อโสธร ขอพรด้วย
คนเมืองราช ขอประกาศ ความร่ำรวย
โอ่งมังกร นำมาด้วย หล่นยังเมิน

แต่วันนี้ นำของดี มามอบให้
ค่านั้นไซร้ หาเปรียบได้ ใครสรรเสริญ
ไม่ใช่แก้ว แหวนเงินทอง ของมากเกิน
ขออัญเชิญ พ่อโสธร วอนรับที

เราขอมอบ ท่านผู้ว่า จากเมืองราช
ขอประกาศ เกียรติยศ และศักดิ์ศรี
ท่านกิติ ทรัพย์พิสุทธิ์ หยุดราชบุรี
มาที่นี่ เป็นผู้ว่า น่าดีใจ

บางปะกง น้ำแม่กลอง นองล้นฝั่ง
พ่อโสธรนั่ง พ่อแก่นจันทร์ยืน ชื่นใจหลาย
คงยินดี ได้ผู้ว่า มาไม่ไกล
เราภูมิใจ แทนผู้คน ฉะเชิงเทรา

พวกเรารัก ท่านกิติ ซิบอกให้
ทำไงได้ เราต้องให้ ท่านกับเขา
เรายินดี เสียสละ ให้ฉะเชิงเทรา
เราจะเอา ท่านเก็บไว้ ได้อย่างไร

ถึงรักท่าน มากที่สุด ต้องสละ
ให้เมืองฉะ ได้คนเฉียบ เปรียบน้ำใส
ทั้งแม่กลอง บางปะกง คงไม่ไกล
ให้ไหลมา พาไหลไป เชื่อมสัมพันธ์

เมื่อครั้งก่อน เราลองย้อน ตอนครั้งเก่า
เรายังเอา ท่านโกเมศ yes ของฉัน
เป็นผู้ว่า ที่แปดริ้ว ปลิวไปนาน
เป็นผู้จัดการ โรงไฟฟ้า เข้ามาแทน

พูดถึงเรื่อง โรงไฟฟ้า เราว่าเหมือน
นับวันเดือน เหมือนยิ่งคล้าย กันเหลือแสน
บางปะกง พิกุลทอง ลองมองแปลน
ผลิตไฟ โยกย้ายแกน เข้าองค์กร

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวอ้าง มันช่างคล้าย
ช่วยเตือนใจ ปลูกฝังราก ยากจักถอน
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พ่อแก่นจันทร์ พ่อโสธร
อำนวยพร ให้พวกเรา เข้าใจกัน

ก็ขอจบ ก่อนลาจาก ฝากคิดถึง
โปรดคำนึง ถึงความรัก สมัครสมาน
เราขอมอบ ท่านผู้ว่า มาทำงาน
ให้กับท่าน วานรับด้วย ช่วยปรบมือ


ประพันธ์โดย  นายสายัณห์ ศรีสมุทรนาค (ลุงจุกจ้อข่าว) จาก HCTV
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เพลงเขมรราชบุรีและเขมรปากท่อ

พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นบุตรคนโตของ ขุนกนกเลขา (ทองดี) กับ นางนิ่ม เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2403 ตรงกับวันอังคาร แรม 4 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ที่บ้านเลขที่ 81 ตรอกไข่ ถนนบำรุงเมือง ตำบลหลังวัดเทพธิดา กรุงเทพ ฯ

การศึกษาวิชาสามัญนั้น มิได้เข้าเรียนที่โรงเรียนใด แต่เรียนที่บ้านตนเองจนอายุได้ 18 ปี สำหรับวิชาดนตรีไทย ได้เรียนปี่ชวากับ ครูชื่อ "หนูดำ" ซึ่งภายหลังได้เลิกเป็นครู  ไปถือศิลอยู่ในถ้ำภูเขาทอง ส่วนวิชาดนตรีปี่พาทย์อื่น ๆ รวมทั้งปี่ใน ปี่นอก นั้น ได้ศึกษาอย่างจริงจังกับ ครูช้อย สุนทรวาทิน (บิดาของพระยาเสนาะดุริยางค์) จนบรรลุความแตกฉานเป็นเอตทัคคะทางดุริยางคศิลป์อย่างเยี่ยมยอดต่อมา

หน้าที่การงานของท่านเริ่มด้วยการเข้ารับราชการครั้งแรกในกระทรวงนครบาล เป็นหมื่นทรงนรินทร์ เมื่อ พ.ศ.2417 ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 16 บาท แต่อยู่ได้ไม่นาน ก็ลาออกครั้นต่อมาภายหลัง เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 มีพระประสงค์ให้นักดนตรีของวัดน้อยทองอยู่ซึ่งมีครูช้อย สุนทรวาทิน เป็นครู มีนายแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) กับนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) เป็นศิษย์เอก เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอกท่านจึงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง

ล่วงมาจนถึง พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระยศเป็นพระยุพราช ได้ทูลขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นายแปลกเป็นที่ "ขุนประสานดุริยศัพท์" นับจากนั้นก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์มาเป็นลำดับ จนได้เป็น "พระยาประสานดุริศัพท์" เจ้ากรมปี่พาทย์หลวง ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2458 เรื่อยมาจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

ความรู้ความสามารถทางดนตรีไทยของพระยาประสาน ฯ นั้น นับได้ว่าเป็นเอกแห่งบรมครูของการสยามสังคีตได้ผู้หนึ่ง ครูจิตร เพิ่มกุศล นักดนตรีอาวุโส ในปัจจุบันซึ่งเคยรับราชการอยู่ในวงปี่พาทย์ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในรัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "วงสมเด็จพระบรม ฯ" ซึ่งมีพระยาประสาน ฯ เป็นผู้ควบคุมวง เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า "ท่านถึงทุกเครื่อง" ที่ว่าถึงนั้น คือ ถึงพร้อมทั้งฝีมือ ความรู้ ปฏิภาณ ไหวพริบ ความเป็นครู และความเป็นศิลปิน อันหาได้ยากยิ่งในผู้อื่น

เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงจัดหาผู้เชี่ยวชาญการดนตรีไปร่วมแสดงงานมหกรรมฉลองครบร้อยปีของพิพิธภัณฑ์เมืองวิมปลี่ย์ ที่ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2428 นั้น ท่านก็ได้รับเลือกไปด้วยในฐานะเอตทัคคะทางปี่และขลุ่ย ผลการบรรเลงเดี่ยวของพระยาประสาน ฯ เป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระราชินีเจ้าวิคตอเรีย เป็นที่ยิ่ง  ถึงกับทรงรับสั่งขอฟังการเป่าขลุ่ยเป็นการส่วนพระองค์อีกครั้งในพระราชวังบัคกิ้งแฮม การบรรเลงครั้งหลังนี้ สมเด็จพระราชินีเจ้าวิคตอเรีย ทรงลุกจากที่ประทับและใช้พระหัตถ์ลูบคอพระยาประสาน ฯ พร้อมทั้งมีรับสั่งถามว่าเวลาเป่านั้นหายใจบ้างหรือไม่ เพราะเสียงขลุ่ยดังกังวานอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดหายแม้ชั่วขณะ เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนับเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงแก่การดุริยางค์ไทย อันที่จริงมิใช่แต่ต่างเมืองจะยกย่องความสามารถของท่านแต่ฝ่ายเดียวก็หาไม่ ครูมีแขก (พระประดิษฐ์ไพเราะ) บรมครูทางดุริยางคศิลป์ ก็ยังปรารถว่า "นายแปลก เป่าปี่ดีนัก ทำอย่างไรจึงจะได้ฟัง" ครั้นความทราบถึงพระยาประสาน ฯ ท่านก็รีบนำปี่ไปกราบ และเดี่ยวเพลงทยอยเดี่ยวให้ครูมีแขกฟัง เมื่อจบเพลง ครูมีแขก ชมว่า "เก่งไม่มีใครสู้"

ครั้งหนึ่งมีการซ้อมดนตรีของวงวังบูรพาภิรมย์ พระยาประสาน ฯไปร่วมตีกลองอยู่ด้วยเสียงกลองนั้น ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ท่านเจ้าของวังรับสั่งถามว่าใครตีกลอง เมื่อทรงทราบว่าเป็นพระยาประสาน ฯ ถึงกับทรงอุทานว่า "ไม่ใช่คนนี่ ไอ้นี่มันเทวดา" ทั้งนี้เพราะเสียงกลองที่ท่านตีนั้นไพเราะจับใจถูกอารมณ์ ถูกจังหวะของดนตรียิ่งนัก อันที่จริง พระยาประสาน ฯ ไม่ชอบการแต่งเพลงขึ้นมาใหม่เท่าใดนัก ท่านเคยกล่าวไว้ว่า "เพลงของเก่าเพราะ ๆ ยังมีอีกมาก" แต่ในสมัยนั้นมักมีการประชันวงปี่พาทย์ ระหว่างวังระหว่างบ้านอยู่เป็นนิจ พระยาประสาน ฯ เองก็อยู่ในฐานะเป็นครูของวงหลวง จะอยู่เฉยไม่คิดประดิษฐ์เพลงให้ลูกศิษย์ ในขณะที่ครูของวงอื่นทำกันอยู่เป็นวิสัยกระไรได้

งานคีตนิพนธ์ของท่านเท่าที่รวบรวมได้มีดังต่อไปนี้ เชิดจีน 3 ชั้น พม่าห้าท่อน เขมรราชบุรี ลาวคำหอม ลาวดำเนินทราย เขมรทรงพระดำเนิน (เขมรกล่อมพระบรรทม) เขมรปากท่อ เขมรใหญ่ ดอกไม้ไทร ถอนสมอ ทองย่อน เทพรัญจวน นารายณ์แปลงรูป แมลงภู่ทอง สามไม้ใน อาถรรพณ์ คุณลุงคุณป้า พราหมณ์เข้าโบสถ์ ธรณีร้องไห้ มอญร้องไห้ แขกเห่ อนงค์สุชาดา วิเวกเวหา แขกเชิญเจ้า ย่องหงิด 3 ชั้น เป็นต้น

เป็นการเหลือวิสัยที่จะบรรยายความสามารถทางดนตรี ของคีตกวีเอกสยาม ท่านนี้ได้บริบูรณ์ ทว่ามีหลักการปรนัยอยู่อย่างหนึ่งว่าจะดูครูให้ดูศิษย์ ถ้าศิษย์ดีมีฝีมือ ครูก็จะยิ่งไปกว่าเป็นทวีคูณ ฉะนั้น เมื่อพิจารณาศิษย์ของพระยาประสาน ฯ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน) พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) อาจารย์มนตรี ตราโมท ครูเฉลิม บัวทั่ง เหล่านี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า พระยาประสาน ฯ อยู่ในขั้น "เทวดา" สมพระดำรัสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เพียงไร

ในด้านชีวิตครอบครัว ท่านสมรสกับนางสาวพยอม ชาวจังหวัดราชบุรี มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 11 คน ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็กเสีย 6 คน เหลืออยู่เรียงลำดับได้ดังนี้
  1. หญิง ชื่อ มณี ประสานศัพท์ (มณี สมบัติ)
  2. หญิง ชื่อ เสงี่ยม ประสานศัพท์ (นางตรวจนภา พวงดอกไม้)
  3. หญิง ชื่อ ประยูร ประสานศัพท์
  4. หญิง ชื่อ ปลั่ง ประสานศัพท์ (ขุน บรรจงทุ้มเลิศ)
  5. หญิง ชื่อ ทองอยู่ ประสานศัพท์ (นางอินทรรัตนากร อินทรรัตน์)
พระยาประสานดุริยศัพท์ ล้มป่วยด้วยโรคชราและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2467 (แต่ในทะเบียนประวิติข้าราชการสำนักพระราชวังลงไว้ว่า วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2467) สิริอายุได้ 65 ปี

ที่มาข้อมูลและภาพ
มหาวิทยาลัยมหิดล. (2552). ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์. [Online]. Available :http://thaimusic.li.mahidol.ac.th/musiclibrary/index.php?ac=hall_of_fame/hall_of_fame_dataperson&id=54&languages=th. [2553 ตุลาคม 11 ].
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เพลงราชบุรีเกมส์ (เวอร์ชั่นทางราชการ)

ราชบุรีเกมส์

คำร้อง  สุชิน  ประพันธ์พจน์ : อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง 
ทำนอง บุญรัตน์  ศิริรัตนพันธุ์ : บริษัท เจเอสแอล จำกัด

ฝันใฝ่ หาความฝัน  อันยิ่งใหญ่  ในวันเยาว์วัย
ฟ้ากว้าง คว้าไขว่ เอื้อมเก็บ ร้อยดาว  ไว้ตามเวลา
ขันแข่ง  แข็งเข้ม  คุ้มค่า ที่เหนื่อย นานเท่านานมา
ด้วยใจ แข็งกล้า แม้ต้องทุกข์ทน ไม่คิดท้อใจ

** มีสักกี่ครั้ง  ในช่วงหนึ่ง ของชีวิตวัย
ที่ประสาน ไมตรี สัมพันธ์

"ราชบุรีเกมส์" เกมส์แห่งความใฝ่ฝัน
ราชบุรีเกมส์ เกมส์แห่งการแข่งขัน
ราชบุรีเกมส์  เกมส์แห่งการสร้างสรรค์
ร้อยรวมดวงใจ  ราชบุรีเกมส์

หวังฝาก ฝีมือ ไว้ทั่วทั้งหล้า  ร้องดังในใจ
ขอสร้าง ภาพอันยิ่งใหญ่ ภาคภูมิ  ให้เกมส์กีฬา
แม้พ่าย แม้ผิด แม้พลาด แม้เหนื่อย นานเท่านานมา
หัวใจ รู้ค่า และเก็บทุกภาพ เก็บลึกในใจ (ซ้ำ **)

หมายเหตุ
-เพลงนี้แต่งประกอบการแสดงในพิธีเปิด ซึ่งบริษัท เจเอสแอล จำกัด เป็นผู้รับเหมาจัดการแสดงในพิธีเปิดและพิธีปิด
-กำลังค้นหาไฟล์เพลงนี้อยู่ไม่ทราบว่ามีผู้ใดเก็บเอาไว้บ้าง 

ที่มา :
หนังสือคู่มือผู้ชมการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่  34 ราชบุรีเกมส์ (18-28 ธันวาคม 2547)
อ่านต่อ >>